 |
เงิน 5 กอง การบริหารเงินตามหลักพุทธศาสนาและตามหลักเศรษฐศาสตร์ |
 |
|
ผู้ที่มีรายได้ อันหมายถึง เงินเดือนที่รับอยู่เป็นประจำเดือน ควรอ่านข้อเขียนของ อาจารย์สมหวัง วิทยาปัญญานนท์ ที่เขียนไว้ดังนี้
ในทางพุทธนั้น ได้สอนถึงการบริหารเงินหรือทรัพย์หรือเศรษฐศาสตร์การคลังไว้ เมื่อเรามีเงิน เราต้องแบ่งเงินออกเป็น 5 กอง ไม่จำเป็นต้องมีปริมาณเท่ากัน ไว้ดังนี้
1. ฝากออมสิน
2. ฝังดินไว้
3. ใช้หนี้เก่า
4. ให้เขากู้
5. โยนสู่เหว
ฝากออมสิน หมายถึง ให้เอาเงินไปกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เช่นซื้อหุ้นกู้ ซื้อสลากออมสิน เอาไปลงทุน เพื่อดูผลที่เป็นรายได้ในระยะยาว หรือเก็บไว้เพื่ออนาคต
ฝังดินไว้ หมายถึง ให้เจียดเงินส่วนหนึ่งไว้ทำประโยชน์ต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ ตอบแทนบุญคุณต่อแผ่นดินเพื่อชาติบ้านเมือง สนับสนุนส่วนรวม สร้างสรรให้โลกน่าอยู่ ช่วยด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล คนเจ็บคนป่วย องค์กรกุศล มูลนิธิ เอาไปเสียภาษีอากร ที่เขาจะเอาไปสร้างสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ให้กาชาด ในทางธรรมจะคิดในแนวทำวัตถุทรัพย์ไปเป็นบุญเพื่อผลในโลกนี้และในโลกหน้า ฝังดินไว้จึงเหมือนเอาไปให้คนอื่นใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นแผ่นดินที่มีบุญคุณต่อเรา ให้เราเหยียบอาศัยอยู่
ใช้หนี้เก่า หมายถึง ให้เลี้ยงดูพ่อแม่ ตอบแทนบุญคุณที่พ่อแม่เลี้ยงเรามา หรือใครที่เป็นผู้ให้กำเนิดเรา หรือมีบุญคุณต่อเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชีวิต ต่ออาชีพ ต่อการเงินการงานของเรา เราต้องรู้คุณ
ให้เขากู้ หมายถึง เจียดเงินส่วนหนึ่งไว้เลี้ยงทายาท บุตรหลาน เป็นการลงทุนสร้างฐานสร้างทายาท เพื่อให้เขาพัฒนาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม แล้วเขาก็จะมาเลี้ยงพ่อแม่ยามพ่อแม่แก่เฒ่า นั่นคือเอาเงินไปให้เขาใช้ก่อน แล้วเขาจะใช้คืนในภายหลัง นั่นเอง
โยนสู่เหว หมายถึง เอาไว้ใช้ไว้กินในชีวิตประจำวัน ให้กับตัวเองและครอบครัว การต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือน โดยเน้นคุณค่าแท้ไม่หลงต่อคุณค่าเทียม เน้นประโยชน์สูง ประหยัดสุด ตามหลักความพอเพียงความพอดี ไม่สุรุ่ยสุร่ายและไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ซึ่งต้องจ่ายไปเรื่อย ๆ เหมือนเหวที่ถมไม่รู้จักเต็ม
|
|